ในการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์จะเก็บรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์
ซึ่งจะได้จากแหล่งของข้อมูล 2 ประเภทด้วยกันคือ
3.1 แหล่งของข้อมูลชั้นต้นหรือข้อมูลปฐมภูมิ
(Primary sources)
เป็นแหล่งของข้อมูลที่ผู้วิจัยได้จากหลักฐานเดิมหรือหลักฐานที่เป็นต้นตอ
โดยผู้วิจัยเป็นผู้สังเกตการณ์ที่บันทึกโดยตรงหรือเป็นข้อมูลที่ได้จากคำบอกเล่า
การบันทึกหรือรายงานของคนที่มีส่วนร่วมหรือเป็นพยานในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นั้น
แหล่งของข้อมูลชั้นต้น ได้แก่
1) เอกสารต่าง ๆ
(Documents) หรือบันทึกที่รายงานโดยผู้อยู่ในเหตุการณ์หรือเป็นพยานของเหตุการณ์
ข้อมูลชั้นต้นที่จัดอยู่ในประเภทนี้ได้แก่
- เอกสารหรือบันทึกของทางราชการ
เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการเสียภาษี กฎหมายต่าง ๆ ประกาศ ระเบียบ สถิติต่าง ๆ
ประกาศนียบัตร คำพิพากษา คำให้การ สารตรา โฉนด ใบอนุญาต ใบรับรอง
เป็นต้น
- เอกสารหรือบันทึกของคนในสมัยนั้น
เช่น จดหมาย จดหมายเหตุ ไดอารี สัญญาต่าง ๆ พินัยกรรม หนังสือ จุลสาร
เรื่องราวในหนังสือพิมพ์ นิตยสารหรือสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ บันทึกของสำนักงาน
อัตชีวประวัติ คำสอน งานวิจัย เป็นต้น
- หลักฐานทางภาพและเสียงในประวัติศาสตร์
เช่น ภาพนิ่ง ภาพยนตร์ ภาพถ่าย ภาพวาด แผนที่ แผนภูมิ เทปบันทึกเสียง
เป็นต้น
2) ซากโบราณวัตถุ
(Remains or Relics) ได้แก่ ซากสิ่งปรักหักพัง ซากพืช ซากสัตว์ที่กลายเป็นหิน
โครงกระดูก เครื่องมือเครื่องใช้ ภาพชนะ อาวุธ เครื่องประดับ เครื่องตกแต่ง ถ้วย
โล่ เสื้อผ้า เหรียญต่าง ๆ เหรียญตรา อาคาร อนุสาวรีย์ เป็นต้น แหล่งข้อมูลต่าง ๆ
เหล่านี้อาจเป็นหลักฐานที่ชี้บ่งถึงการดำเนินชีวิต ความเชื่อ ประเพณี
และวัฒนธรรมของคนในสมัยนั้นด้วย
3) คำให้การหรือหลักฐานทางคำพูด
(Oral testimony) ได้แก่
เรื่องที่พูดโดยพยานหรือผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์
3.2 แหล่งของข้อมูลชั้นรองหรือข้อมูลทุติยภูมิ
(Secondary sources) เป็นแหล่งของข้อมูลที่ได้จากรายงาน
หรือถ่ายทอดมาจากข้อมูลชั้นต้น หรือข้อมูลปฐมภูมิ
คือข้อมูลหรือหลักฐานนั้นถูกรายงานโดยผู้ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือเป็นพยานในเหตุการณ์นั้น
ผู้เขียนจะรายงานหรือถ่ายทอดในสิ่งที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์พูด หรือเขียน
หรือถ่ายทอดในลักษณะต่าง ๆ ไว้ หรืออาจจะถ่ายทอดมาหลายทอดก็ได้
ดังนั้นการนำมาใช้ในการวิจัยจึงต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ
แหล่งของข้อมูลชั้นรองได้แก่ ตำราเรียนทางประวัติศาสตร์ หนังสือพงศาวดาร วารสาร
สารานุกรม เป็นต้น
โดยทั่วไปแล้ว นักประวัติศาสตร์
นักวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ มักจะใช้ข้อมูลชั้นต้นหรือข้อมูลปฐมภูมิ
เพราะมีความเชื่อถือได้มากกว่าและจะใช้ข้อมูลชั้นรองหรือข้อมูลทุติยภูมิก็ต่อเมื่อไม่สามารถจะหาข้อมูลชั้นต้นได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น